ยินดีต้อนรับแขกผู้มาเยือน..."ศูนย์ประสานงานเครือข่ายการเรียนรู้ ด้านการจัดการเมืองและสิ่งแวดล้อม ประจำภาคตะวันออก"
 
 

      การจัดการของเสียจากครัวเรือน โรงงานอุตาหกรรม ตลาด ร้านค้า ฯลฯ นั้น แต่ละแหล่งกำเนิด ก็จะก่อให้เกิดของเสียที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงปริมาณ และความสามารถในการนำกลับมาใช้ใหม่ รีไซเคิลก็แตกต่างกันออกไปด้วยเช่นกัน หลายกิจกรรมที่ทางเทศบาลตำบลเมืองแกลง ดำเนินการอยู่ภายในศูนย์ปะสานเครือข่ายการเรียนรู้ด้านการจัดการเมืองและสิ่งแวดล้อม ประจำภาคตะวันออกนี้ ก็เพื่อลดปริมาณขยะหรือของเสียจากแหล่งต่างๆ ก่อนที่จะลำเลียงขนส่งไปยังหลุมฝังกลบ ซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปจากตัว อ.แกลง หลาย 10 กิโลเมตร ซึ่งการลดปริมาณขยะก่อนที่จะไปถึงหลุมฝังกลบ ก็จะช่วยลดการสิ้นเปลืองปริมาณพลังงานน้ำมันในการขนส่ง ลดเวลา และช่วยให้หลุมฝังกลบขยะของทางเทศบาลฯ เต็มช้าลงด้วย

      ซึ่งหลุมฝังกลบของทางเทศบาลฯ เรานั้น ยังเป็นที่ทิ้งขยะของหน่วยงาน องค์กรอื่นด้วย ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งถ้าเราไม่ช่วยกัน หลุมฝังกลบก็จะเต็มเร็วขึ้น การที่ขยะรวมตัวฝังกลบอยู่ในหลุมขยะนั้น จะก่อให้เกิดก๊าซมีเทน คาร์บอนไดออกไซด์ ไฮโดรเจนซัลไฟด์(ก๊าซไข่เน่า) ก่อให้เกิดปรากฎการณ์โลกร้อน กระทบต่อโลกของเรา...

      ฐานต่างๆ ในศูนย์ประสานงานฯ เป็นตัวช่วย/เครื่องมือในการกำจัด/คัดแยกขยะ เพื่อนำไปเป็นอาหาร หมักทำปุ๋ย ฯลฯ ฐานต่างๆ มีดังนี้

1. ฐานโรงคัดแยกขยะ (Conveyor Sorting Garbage Plant)

สายพานเปรียบเสมือน สายใยชีวิตที่หล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตต่างๆ ภายในศูนย์ฯ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของศูนย์ฯ ซึ่งทางเทศบาลฯ ได้รับเงินทุนเริ่มต้นมาจำนวน 40,000 บาท ก็ได้ซื้อสายพานมือสอง มาจากโรงงานไม้ยาง ซึ่งสามารถรองรับขยะก่อนการคัดแยกได้ประมาณ วันละ 7 - 8 เที่ยวรถขยะ ซึ่งปัจจุบัน เราได้ซื้อสายพานลำเลียงขยะ มือหนึ่ง เพิ่มขึ้นอีก 2 เส้น รวมมี 3 เส้น และได้รับหลังคาเพื่อคลุมกันแดดกันฝน จาก บริษัทไทยไฟเบอร์พลัส ที่เราได้นำกล่องนมที่ผ่านการคัดแยกจากสายพานนี้ และรับซื้อจากโรงเรียน เพื่อนำไปแปรรูป Recycle นำกลับมาใช้ใหม่

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง ลำนำเพลงแห่งสายพาน ลำเลียงงานเทศบาลได้ก้าวไป

2. ฐานโรงบดย่อย (Composting Plant)
เทศบาลฯ มีอีกหน้าที่หนึ่งคือการออกตัดแต่งกิ่งไม้ และก็ต้องนำกิ่งไม้ไปทิ้งที่หลุมฝังกลบ ซึ่งเป็นระยะทางไกล เทศบาลฯจึงต้องหาวิธี ในการกำจัด ซึ่งต้องก่อให้เกิดประโยชน์ด้วย ซึ่งเครื่องบดย่อยกิ่งไม้ จะได้ผงขี้บด เพื่อไว้ใช้หมักทำปุ๋ยหมัก เป็นเชื่อให้การขึ้นรูปไขมันอัดก้อน และเครื่อบดย่อยผักและผลไม้ ซึ่งจะได้ผักและผลไม้ที่ละเอียด นำไปเป็นอาหารให้กับไส้เดือน และลดการใช้น้ำมันในการขนส่งไปหลุมฝังกลบด้วย รวมทั้งการเดินเครื่องบดย่อยด้วยไบโอแก๊ส

3. ฐานโรงหมักก๊าซชีวภาพ (Biogas House)
บ่อหมักก๊าซชีวภาพขนาด 10 - 50 ตัน/วัน ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้การหมักขยะอินทรีย์เพื่อให้ได้แก๊สมีเทนเรื่อยมา น้ำขยะที่กักอยู่ในรถบรรทุกขยะและที่หยดย้อยรั่วซึมออกมาก็ดี น้ำจากกองปุ๋ยหมักก็ดี น้ำจากการบดย่อยเศษผัก ผลไม้ที่นำมารองไว้ 1 คืน ก่อนขึ้นกองปุ๋ยหมักก์ดี น้ำจากการบีบอัดของเครื่องอัดกล่องนม กล่องน้ำผลไม้ และถุงพลาสติกก็ดี น้ำจากกองขยะบนลานสายพานคัดแยกขยะก็ดี น้ำจากการเลี้ยงหมูก็ดี...สิ่งเหล่านี้เป็นวัตถุดิบชั้นดี ที่จะหมักเพื่อให้ได้แก๊สมีเทน เป็นการจัดการ "ของเสียที่เิดขึ้นหลังการจัดการของเสีย" โดยไม่ต้องเปลืองเวลาเปลืองน้ำมันออกไปวิ่งหาวัตถุดิบจากพื้นที่อื่น

4. ฐานพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell)

ศูนย์ประสานงานฯ ติดตั้งแผ่นโซลาร์เซลล์ บนหลังคาอาคารบ่อหมักแก๊สชีวภาพ จำนวน 42 แผ่น เป็นแผ่นโซลาเซลล์แบบอะมอร์ฟัท 60 โวลท์ 42 วัตต์ ต่ออนุกรม 6 แผ่น จำนวน 7 ชุด ให้กำลังวัตต์สูงสุด 1,764 วัตต์ ใช้วิธีเก็บพลังงานในแบตเตอรี่รถยนต์มือ 2 ที่ผ่านการปรับกรด ให้สามารถใช้งานได้ จำนวน 20 ลูก ได้ใช้พลังงานโซล่าเซลล์สำหรับ สายพานลำเลียงขยะ 2 เส้น และไฟฟ้าให้แสงสว่าง Download ป้ายบรรยาย 1) อาคารพลังงานทดแทนจากแสงแดด 2)วิธีการปรับกรดแบตเตอร์รี่เก่า 3) วงจรการทำงานของระบบโซลาเซลล์ดีซีไฮโวลท

บนหลังคาเล้าหมู และ บนหลังคาโรงฆ่าสัุตว์ ระบบโซล่าร์ Low volt เป็นแผ่นโซล่าเซลล์ 42 วัตต์ จำนวน 4 แผ่น ต่อขนาน แรงดัน 60 โวลท์ ได้กำลังวัตต์ 168 วัตต์ เก็บพลังงานไว้ในแบตเตอรี่ จำนวน 3 ลูก ใช้พลังงานกับปั้มน้ำไดโว และไฟฟ้าแสงสว่าง (หลอดตะเกียบ, หลอดฟลูออเรสเซ้นท์) Download ป้ายบรรยาย 1) ระบบโซลาร์เซลล์ Low volt

โดยมีท่านอาจารย์นันท์ ภักดี ให้การช่วยเหลือสอนและอบรมให้พนักงานในเทศบาลฯ และอบรมให้ความรู้กับประชาชนทั่วไป สามารถนำไปปรับใช้ที่ครัวเรือนด้วย

+++ Download คู่มือนำชมเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ +++

5. ฐานฟาร์มไส้เดือน (Earth Worm Farm)
"นิ่ง เงียบ เฉียบ ขาด = นินจา" สมญาณามของ "ไส้เดือนดิน" ซึ่งปัจจุบันเทศบาลฯ เลี้ยงไส้เดือนอยู่ด้วยกัน 2 สายพันธุ์ คือ แอฟริกาไนท์ กับ ขี้ตาแร่ เพราะ 2 พันธุ์นี้ ขยายพันธุ์เร็วและกินเก่ง สามารถย่อยสลายเศษผัก ผลไม้และเศษอาหารได้ดี และถ่ายมูลออกมากปริมาณมาก มูลและฉี่ไส้เดือน มีธาตุฟอสฟอรัสสูง บำรุงดอกและใบ โดยสถานที่เลี้ยงเทศบาลฯ จะทำเป็นคอนโด เพื่อประหยัดพื้นที่ บ่อเลี้ยงของไส้เดือนรองบ่อด้วยขี้วัว ขุยมะพร้าว เศษใบไม้ และให้อาหารโดยการบดเศษผักและผลไม้ให้ละเอียด ด้วยเครื่องบดย่อยเศษผัก เพื่อให้ไส้เดือนสามารถดูดซึมได้ง่าย ส่วนเศษอาหารที่เลี้ยงไส้เดือนได้ จะต้องไม่เป็นกรด ด่าง อย่างเช่น มะนาว พริก ฯ

6. ฐานโรงเลี้ยงหมู (Boar House)

หมูเป็นสัตว์ที่กินเก่ง กินทุกอย่าง เป็น "หลุมขยะที่ไม่มีวันเต็ม" ใส่เศษอาหารที่เหลือทิ้งจากร้านอาหารเข้าไป หมูก็กินหมด หมูที่ทางเทศบาลฯเลี้ยง คือ หมูป่า เลี้ยงในบ่อปูน กว้าง 3 ม. ยาว 6 ม. โดยเมื่อหมูถ่ายมูลออกมาก็จะไหลไปลงบ่อเก็บมูล และจะดูดขึ้นไปหมักแก๊ส ยังบ่อหมักแก๊สชีวภาพ เพราะมูลหมูสามารถหมักแก๊สได้ดี ซึ่งวัตถุประสงค์ในการเลี้ยงหมูหลุม ก็คือ การกำจัดผัก ผลไม้ และเศษอาหารจากครัวเรือน ส่วนผลพลอยได้ ก็คือ ปุ๋ยจากมูลสัตว์ + หมักไบโอแก๊ส

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
+ เศษอาหาร เศษผักผลไม้มีค่า นำกลับไปทำปุ๋ย ก็ได้ชื่อว่า..เกิดมาทดแทนคุณ "แผ่นดิน" เหมือนกัน

7. ฐานโรงเลี้ยงแพะ (Goat House)
เทศบาลฯ เลี้ยงแพะ เพื่อกำจัดเศษขยะอินทรีย์ พวกเศษผัก ผลไม้ จากตลาดสด ที่แม่ค้าเด็ดเปลือนอกของผักทิ้ง ซึ่งถ้าเทศบาลฯ ไม่นำมาเป็นอาหารให้แก่แพะ ก็จะต้องไปลงหลุมฝังกลบ มูลของแพะก็ยังเป็นปุ๋ยชั้นดี เป็นเครื่องอัดเม็ดปุ๋ย เพราะมูลของแพะเป็นเม็ด สำหรับกวาดลงมารวมกัน และใช้ได้เลย ไม่ต้องอัดเม็ด สัตว์พวกนี้เป็นมังสวิรัต กินแต่ผัก ไม่กินเนื้อสัตว์
 

8. ฐานโรงเลี้ยงเป็ด (Duck House)
เป็ดเป็นสัตว์ลำไส้สั้น ย่อยอาหารเร็ว ดูดซึมเอาไปใช้ประโยชน์โดยรวดเร็ว อาหารที่เทศบาลฯ ให้กับเป็ดคือ เศษอาหาร เศษผักผลไม้ จากร้านอาหาร โรงเรียน และบ้านเรือนต่างๆ เป็ดที่ทางเทศบาลฯเลี้ยง เป็นเป็ดไข่ ใช้พื้นที่ในการเลี้ยงไม่กว้างมากนัก แต่มีพื้นที่ให้เขาได้เดินเล่นออกกำลังกาย เล่นน้ำ ซึ่งไข่ที่ได้ มีปริมาณไข่แดงมาก ไข่ขาวน้อย และไข่แดงสีแดงสด เพราะเราให้เขากินอาหารที่มีคุณค่า มีประโยชน์ ไม่ปนเปื้อนสารเคมี

9. ฐานโรงหมักน้ำจุลินทรีย์ (E.M. Farm)

น้ำจุลินทรีย์ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เทศบาลฯ ดำเนินการหมักมานานแล้ว ก่อนที่จะได้จัดตั้งเป็นศูนย์ประสานงานฯ เพราะด้วยคุณสมบัติและประโยชน์ที่ดี ทั้งการใช้ในสำนักงานเพื่อดับกลิ่นในห้องน้ำ และใช้หยดลงท่อระบายน้ำเสียของเทศบาลฯ เพื่อบำบัดน้ำก่อนลงสู่แม่น้ำประแส และในการหมักน้ำจุลินทรีย์ก็ยังเป็นอีกวิธีหนึ่งในการช่วยกำจัดเศษผัก ผลไม้ ที่เหลือทิ้งจากบ้านเรือนและตลาด เพื่อลดการขนส่งลำเลียงไปที่หลุมฝังกลบ

10. ฐานโรงกากไขมันอัดก้อน (Fat Compression Plant)
ไขมันเป็นตัวอันตรายสำหรับแม่น้ำประแสของเราเป็นอย่างมาก ไขมันทั้งจากครัวเรือน ร้านอาหาร โรงเรียนฯ ถ้าเทศบาลฯไม่ออก เทศบัญญัติการติดตั้งถังดักไขมัน เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2549 เป็นการควบคุมให้บ้านเรือนที่เกิดใหม่ ต้องติดตั้งถังดักไขมัน และสอนวิธีการตักไขมัน เพื่อนำไขมันเหล่านั้นไปทำประโยชน์ ถ้าไขมันเหล่านั้น ไม่ได้ผ่านการดักไว้ตั้งแต่ต้นทาง คือ บ้านเรือน ไขมันก็จะไปลงสู่ท่อระบาย และท่อระบายน้ำก็จะไหลลงสู่แม่นำ้ประแส แม่น้ำหัวใจสำคัญของเมืองแกลง ที่คนเมืองแกลง ใช้ทั้งผลิตน้ำประปา การเพาะเลี้ยงและหาสัตว์น้ำ ฯ ทำให้น้ำเน่าเสีย เราจึงได้เรียนรู้และร่วมมือกัน เพื่อให้คลองประแสอยู่คู่เมืองแกลงตลอดไป
- ไขมันที่ตักได้จากถังดักไขมัน -

11. ฐานเครื่องอัดกล่องนม (Milk Box Press)

ในเขตเทศบาลฯ มีโรงเรียนภายในเขตพื้นที่อยู่หลายโรงเรียน ทั้งประถมและมัธยม ซึ่งจะมีขยะประเภทกล่องนมและถุงนมจำนวนมาก กระดาษที่ผลิตกล่องนม เป็นกระดาษใยยาว ซึ่งต้องใช้จากต้นไม้ที่มีอายุมากกว่า 70 - 100 ปี ถ้าใช้กระดาษใยยาวครั้งเดียว นำไปฝังกลบเลย ก็จะเสียพลังงาน กว่าต้นไม้จะโตต้องใช้พลังงานไปมาก และพลาสติกที่ใช้ กว่าจะย่อยสลายก็ใช้เวลานานกว่า 400 ปี ซึ่งทางเทศบาลฯ ก็พยายามหาโรงงานรับซื้อกล่องนม ถุงนมและถุงพลาสติก เพื่อนำไปส่งให้เขาแปรรูปกลับมาเป็นโต๊ะ หลังคา ฯ ซึ่งความสามารถของเครื่องอัดนี้ จะทำให้เป็นก้อนใหญ่ๆ ขนาดประมาณ 100 กก. เพื่อง่ายต่อการขนส่ง

ประสานข้อมูล
คุณนิวัตน์ ยิ้มอยู่ เบอร์โทร 083-5979069

12. ฐานเกษตรเมือง (Urban Agricultural)

การปลูกพืชผักสวนครัว รั้วกินได้ รัฐบาลก็สนับสนุนให้ทุกบ้านได้ทำอยู่แล้ว แต่ทางเทศบาลฯ ก็ได้ปลูกพืชผักต่างๆ ไว้ภายในศูนย์ฯ , หน้าเทศบาลฯ และพื้นที่ว่างอื่นๆ เพราะผักที่ชาวเมืองแกลง กินอยู่ทุกวันนั้น ล้วนแต่ขนส่งมาจากต่างจังหวัดไกลๆ ทั้งจากภาคเหนือและอีสาน ดังนั้นการส่งเสริมให้คนในเมืองแกลงปลูกผักกินเอง เพื่อลดการขนส่ง ไม่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน และยังเป็นผักปลอดสารพิษ เทศบาลฯ จึงปลูกผักในพื้นที่อย่างจำกัด แต่ได้ผลผลิตคุณภาพดี ได้ปริมาณสูง ซึ่งเทศบาลฯ ได้ปลูก ผักกาดเขียว กระเพรา ผักบุ้ง ผักหวาน กวางตุ้ง ฯ

     
     
 
 
 
copyright © 2010
http://erc-sumc53.muangklang.com
This site is best view at 1024*768.Designed by Hoshi-chan :)
ศูนย์ประสานงานเครือข่ายการเรียนรู้ด้านการจัดการเมืองและสิ่งแวดล้อม ประจำภาคตะวันออก
Eastern Regional Coordinating Center On Urban And Environmental Management

โทร 038-675222 , แฟ็กซ์ 038-671209