|
เราต่างก็ทราบกันดีว่า ถึงอย่างไรเสีย เมืองต่าง ๆ ที่มีการเติบโตทั้งด้านจำนวนประชากร เศรษฐกิจ ฯ ย่อมไม่อาจหนีพ้นปัญหาเรื่องการเพิ่มขึ้นของจำนวนยานยนต์ในเขตเมือง ต่อให้น้ำมันเชื้อเพลิงจะขึ้นราคาไปอีกมากเท่าใดก็ตาม ก็อาจเป็นเพียงแค่การชลอที่จะตัดสินใจใช้รถยนต์ส่วนบุคคลไปสักระยะเท่านั้น เพราะ คนต้องเคลื่อน
ในบทบาทของท้องถิ่นเช่นกรณีของเทศบาลตำบลเมืองแกลง ให้ความสนใจต่อการพัฒนาเมืองในกรณีนี้ ในมิติที่ว่ายิ่งมียิ่งจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้นเท่าใด การพ่วงเอาปัญหาความเป็นเมืองไม่น่าอยู่อันเนื่องมาจากการเดินทางที่ลำบากก็มากขึ้นตามไปด้วย |
 |
การพัฒนาเมืองจึงไม่เพียงแค่ทำให้ยานยนต์เคลื่อนที่ไปได้อย่างสะดวกด้วยการตัดถนนทำทางเพียงอย่างเดียว แม้จะเป็นการแก้ปัญหาที่ดูเหมือนจะเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับกันโดยทั่วไป และเป็นที่ชอบอกชอบใจว่าเป็นความสำเร็จของการพัฒนาเมืองแล้ว ด้วยเป็นกายภาพที่ถูกเห็นง่าย ทำแล้วก็เห็นผลเร็ว
แต่ที่ต้องคิดแย้งไปมาอยู่เสมอก็คือ เหตุใด เมืองใหญ่ ๆ ที่ได้เห็นนั้น แม้จะตัดถนนขยายทางกันเพิ่มมากขึ้นสักเท่าใด ปัญหาการเดินทางที่สร้างความอึดอัดใจเพราะติดขัดล่าช้า รวมถึงการปล่อยมลพิษไว้ในอากาศจึงแก้ไม่ได้เสียที ขณะที่ยังกลับทวีจำนวนยานยนต์เพิ่มมากขึ้นไปอีก
หรือนั่นอาจเพราะมีถนนหนทางที่สะดวกมากขึ้นหรือเปล่า คนจึงหันไปหารถยนต์กันมากขึ้น |
|
หรือนี่เป็นสูตร เป็นบัญญัติไตรยางศ์ที่มีคำตอบที่ถูกต้องได้เพียงคำตอบเดียวสำหรับเมืองต่าง ๆ
เมื่อราวปี พ.ศ.2547 เทศบาลฯ ได้เข้าร่วมโครงการรณรงค์รักษาสภาพภูมิอากาศเพื่อเมืองน่าอยู่กับอีก 5 เทศบาลในเมืองไทย และอีกหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะเดียวกันกับที่กำลังพยายามปรับทิศทางการทำงาน ด้วยการนำระบบการส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงานตามหลักสากล ( ISO 14001) ไปใช้ในองค์กร ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ตรงนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ได้เข้าใจการพัฒนาเมืองกระเด็นกระดอนออกไปจากกรอบความจำเจอันฉาบฉวย ทำให้เข้าใจชะตากรรม เมือง ที่เกิดจากผลแห่งการพัฒนาแบบคิดสั้นมองตื้น และเมื่อกล่าวถึงการบริหารจัดการการเดินทางในเขตเมืองแล้ว ในระยะสี่ปีที่ผ่านมา ก็ได้ผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ จากการลงมือทำมาแล้วและกำลังดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่องในหลายมาตรการ ดังนี้
1. จัดเก็บข้อมูลปริมาณยานยนต์ตามท้องถนนในเขตเมือง และคำนวณหาปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากภาคการเดินทาง |
 |
|
 |
2. เผยแพร่ประชาสัมพันธ์การพัฒนาเมือง ในมิติเรื่องของเดินทางสัญจรเป็นข้อคิดข้อสังเกตสู่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง
3. จัดให้มีจักรยานไว้ประจำเทศบาล จำนวน 30 คันเพื่อใช้ในภารกิจต่าง ๆ ส่งเสริมกลุ่มชมรมผู้ใช้จักรยานทั้งเพื่อการออกกำลังกาย การท่องเที่ยว การเดินทางด้วยการจัดให้มีกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ และจัดให้มีเส้นทางจักรยานในพื้นที่สนามกีฬาและสวนสาธารณะขนาด 104 ไร่ เพื่อการนันทนาการ
4. ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่สามารถนำรถยนต์เข้าไปจอดในบ้านในตัวอาคารได้ ให้มาขออนุญาตขุดเจาะทางเท้าเพื่อลดการเสียพื้นที่ผิวจราจรสำหรับการเดินทาง |
 |
|
5. การให้ความสำคัญกับการขออนุญาตปลูกสร้างอาคาร ที่ต้องจัดให้มีที่จอดรถไว้เป็นของตนเอง และมีระยะถอยร่นของอาคารจากเขตทางที่มีความเหมาะสม
6. เปิดทางลัดบริเวณสี่แยกหมอเปลี่ยน ถนนบ้านบึง แกลงเพื่อให้รถยนต์จากชลบุรีมุ่งหน้าไปจังหวัดระยอง สามารถประหยัดระยะทางได้ไม่น้อยกว่าคันละ 600 เมตร
7. ขยายปากทางถนนเทศบาล 3 เชื่อมถนนสุขุมวิท เพื่อลดปัญหารถติดจากปัญหาปากทางแคบ
8. ปรับปรุงทางหลวงเทศบาล ถนนเกาะหนองโบสถ์เพื่อให้คนในท้องถิ่นสามารถเดินทางไปมา ระหว่างกันได้โดยไม่ต้องใช้ทางหลวงแผ่นดิน ทางด้านทิศใต้ถนนสุขุมวิท ช่วยประหยัดระยะทาง น้ำมันเชื้อเพลิง ประหยัดเวลา และเพิ่มความปลอดภัยได้มากขึ้น |
 |
|
 |
9. จัดทำโครงการถนนท่ายายบุญ บ้านบนเนิน เข้าร่วมกับโครงการพันธมิตรเพื่อการพัฒนาตามผังเมืองรวม สำหรับเป้าหมายให้ถนนสายดังกล่าวเป็นทางหลวงเทศบาล ให้คนในท้องถิ่นได้ใช้ในการเดินทางไปมาระหว่างกัน ทางด้านทิศเหนือของถนนสุขุมวิท
10. จัดสร้างถนนแกลงกล้าหาญ เริ่มจากถนนสุขุมวิท มุ่งหน้าสู่สนามกีฬาและสวนสาธารณะของเทศบาล ระยะทาง 1,100 เมตรด้วยแนวคิดถนนไร้เครื่องยนต์ (NMT หรือ Non Motorized transportation) โดยถนนดังกล่าวได้แบ่งสัดส่วนการให้น้ำหนักความสำคัญกับการเดินทาง โดยให้มีพื้นที่สำหรับทางเดินเท้าสองฝั่งรวม 7 เมตร พร้อมทางสำหรับคนพิการ ทางจักรยานสองฝั่งรวม 4 เมตร ทางรถใช้เครื่องยนต์สองฝั่งรวม 7 เมตร และพื้นที่สำหรับต้นไม้ที่เกาะกลางกว้าง 2 เมตร จากความกว้างถนนรวม 20 เมตร |
 |
 |
|
11. จัดทำโครงการประหยัดพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงในภาคการเดินทางในเขตเมือง โดยให้ปี พ.ศ.2551 เป็นปีแห่งการศึกษารูปแบบความเป็นไปได ้ในการนำรถขนส่งมวลชนมาใช้บริการประชาชน เพื่อบรรเทาปัญหาความแออัดของรถยนต์ และเป็นเตรียมการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น และสร้างเสริมการเรียนรู้เรื่องระบบขนส่งมวลชน แก่ประชาชนในขณะที่ปัญหายังไม่ส่งผลกระทบถึงขั้นรุนแรง
12. จัดทำเทศบัญญัติการจัดระเบียบการจอดยานยนต์ พ.ศ.2550 โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เทศบัญญัตินี้รองรับอำนาจหน้าที่ ในการปฏิบัติหน้าที่ด้านการจัดจราจรให้กับเทศบาล จากเดิมซึ่งหน้าที่ตรงนี้เป็นของตำรวจจราจร เพื่อให้การจราจร ซึ่งครอบคลุมถึงเรื่อง การจัดระบบการเดินทาง การจอดรถ การอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเดินทาง การจัดการของเสียและมลพิษที่เกิดจากภาคการเดินทาง เพื่อลดเหตุรำคาญและปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่นกรณีให้ดับเครื่องเมื่อจอด การสร้างความคล่องตัวระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในท้องถนนในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ตลอดจนให้เทศบาลมีอำนาจในการระวางโทษปรับผู้ทำผิดกฎจราจร ได้ตามข้อบัญญัติในเทศบัญญัติฉบับนี้ (จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในต้นเดือนมกราคม 2551) |
 |
|
แม้จะเป็นที่รู้กันดีว่า อย่างไรเสียปัญหาความไม่น่าอยู่ของเมืองอันเนื่องมาจากการจราจร และการเดินทางที่ความสะดวกกำลังลดน้อยลงเรื่อย ๆ เพราะจำนวนรถยนต์เพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ความพยายามตั้งใจที่จะแก้ปัญหานี้ยังต้องดำเนินต่อไป ควบคู่ไปกับการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้น เช่น การใช้ประโยชน์ในที่ดินบริเวณต่าง ๆ ของเมือง ลักษณะการใช้ประโยชน์อาคาร ระบบสัญญาณจราจร ทิศทางและเป้าหมายของการกำหนดพื้นที่ตามหลักผังเมือง ฯลฯ และส่วนสุดท้ายที่สำคัญคือการลงมือทำนำไปก่อนที่ปัญหาจะมากไปกว่านี้ เพราะการแก้ปัญหาตามหลังไม่ได้เป็นผลดีต่อการพัฒนาเมืองแต่อย่างใดเลย |