ยินดีต้อนรับแขกผู้มาเยือน..."ศูนย์ประสานงานเครือข่ายการเรียนรู้ ด้านการจัดการเมืองและสิ่งแวดล้อม ประจำภาคตะวันออก"
 
 
ติดต่อได้ที่ คุณกุญภาญา 089-8327589 kunpaya17@gmail.com
๑.ปุ๋ยมูลไส้เดือน และน้ำหมักมูลไส้เดือน
        "ไส้เดือน" ได้ยินชื่อนี้ สาวๆ หลายๆ คนคงร้อง "ยี้ๆๆๆๆ" เพราะความที่มันไม่น่ารักเอาซะเลย แต่เมืองแกลงของเรา ได้เล็งเห็นความสามารถในตัวสัตว์ประเภทนี้ เพราะความที่มันเป็นสัตว์กินเก่ง ทำงานโดยไม่ต้องเรียนรู้ นิ่ง เงียบ... (เหมือนนินจา) ไส้เดือนเป็นสัตว์ที่มี ๒ เพศในตัวเดียวกัน ขยายพันธุ์รวดเร็ว ไส้เดือนที่ทางเทศบาลฯ เลี้ยงไว้เพื่อกำจัดเศษอาหารและเศษผักนั้น มี ๒ สายพันธุ์ ได้แก่ ขี้ตาแร่ และแอฟริกาไนท์ ผลพลายได้จากการเลี้ยงไส้เดือน คือ "ปุ๋ยมูลไส้เดือน" ซึ่งปุ๋ยนี้มีธาตุฟอสฟอรัสสูง ช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อดิน พืชออกดอกเร็วดอกดก สีสด ไม้ผลมีผลใหญ่และรสชาติดี น้ำหมักมูลไส้เดือน ใช้รดต้นไม้หรือฉีดพ่นทางใบในพืชผล ไม้ดอก ไม้ใบ ไม้ผล และสนามหญ้า ใช้ในอัตราส่วน ๑ ส่วนต่อน้ำ ๒๐ ส่วน
       ปุ๋ยมูลไส้เดือน ถุงเล็ก ๐.๕ กิโลกรัม ราคา ๑๐ บาท / ถุงใหญ่ ๑.๕ กิโลกรัม ราคา ๓๐ บาท และปุ๋ยน้ำหมักมูลไส้เดือน ขวดเล็ก ๖๐๐ มิลลิลิตร ราคา ๒๐ บาท / ขวดใหญ่ ๑,๕๐๐ มิลลิลิตร ราคา ๕๐ บาท หาซื้อได้ที่ งานสวนฯ ศูนย์ประสานงานฯ หรือ ชั้น ๒ หน้าห้องนายกฯ
๒. ข้าวกล้อง ตรา "ข้าวแกลง"

        "บ้านนา" "ทุ่งควายกิน" "ทางเกวียน" ล้วนแต่เป็นชื่อตำบลที่เกียวข้องกับการทำนาทั้งสิ้น ซึ่งตำบลเหล่านี้ อยู่ล้อมรอบ "เมืองแกลง" ของเรา ซึ่งแสดงว่าอดีตนั้น เมืองแกลงของเราทำนามาก่อน ปัจจุบันคนเมืองแกลงได้ร้างราการทำนาเป็นเวลานาน เนื่องจากมีอาชีพอย่างอื่นให้ทำ แต่ด้วยว่า การบริโภคข้าว จากแหล่งอื่น ซึ่งไกลจากพื้นที่เรา ไม่สามารถรู้ได้ว่า กรรมวิธีในการปลูกนั้นเป็นเช่นไร มีการฉีดพ่นสารเคมีและเก็บรักษาอย่างไร และในการขนส่งนั้น ก็ก่อให้เกิดมลพิษ การใช้พลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย ซึ่งถือเป็นการก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งทางเทศบาลฯ ได้ส่งเสริมให้คนในเมืองแกลง หันกลับมาปลูกข้าวบริโภคเอง เพราะเรามีธรณีสัณฐานที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกอยู่แล้ว ซึ่งเทศบาลฯ รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรในเมืองแกลงที่ปลูก แล้วนำไปให้โรงสีในพื้นที่ สีเป็น "ข้าวกล้อง" เพราะว่าข้าวกล้องมีสารอาหารมาก บำรุงร่างกาย และจำนวนครั้งในการสี ก็น้อยกว่าข้าวขาว ซึ่งถือว่าเป็นการลดภาวะโลกร้อนไปในตัวด้วย...

        ข้าวที่เทศบาลฯ คัดเลือกนำมาสี ก็ได้แต่ ข้าวกล้องหอมมะลิ , ข้าวกล้องมะลิแดง , ข้าวกล้องมะลิ ๓ สี , ข้าวกล้องผสม , ข้าวกล้องธัญพืช และ จมูกข้าวมะลิแดง ซึ่งเทศบาลฯ จำหน่ายกิโลกรัมละ ๔๕ บาท หาซื้อได้ที่ ชั้น ๑ ห้องกองคลัง เทศบาลฯ

บทความเกี่ยวข้อง "มามอบของขวัญปีใหม่ ด้วยข้าวกล้อง ตรา "ข้าวแกลง"

ข้าวกล้องหอมมะลิ
ข้าวกล้องมะลิแดง
ข้าวกล้องมะลิ ๓ สี
ข้าวกล้องผสม
๓.พืชผักสวนครัว
ผักบุ้ง
        ผักบุ้งเป็นผักที่ปลูกง่าย โตไว ทานแล้วมีสุขภาพดี บำรุงสายตา มีพื้นที่เพียงเล็กน้อยก็สามารถปลูกได้ เช่น ตามร่องน้ำ / ในกระถาง / กระบะ ฯ ที่ไม่ได้ใช้สอยแล้ว สามารถนำมาเป็นภาชนะปลูกได้ ซึ่งเทศบาลฯ ปลูกริมๆ ร่องน้ำ และในกล่องโฟมที่เหลือทิ้ง
ผักหวาน
        ผักชนิดนี้เป็นผักที่ทนสภาพต่างๆ ได้ดี เพราะเป็นผักหวานป่า ปลูกง่าย แตกยอดไว ยอดอ่อน ทั้งผัดน้ำมันหอย หรือว่าต้มจืด ก็อร่อย เทศบาลฯ ปลูกในศูนย์ฯ ตามพื้นที่ว่างต่างๆ
ผักกาดเขียว
๔.ไข่เป็ด
เป็ดที่เทศบาลฯ เลี้ยงไว้เป็ดไข่ เลี้ยงด้วยเศษอาหารจากร้านค้า ร้านอาหาร ที่มีรถกระป๊อ ไปออกเก็บ เป็นไข่เป็ดที่มีคุณภาพดี ไข่แดงสีจัด ไข่ขาวน้อย จำหน่ายถุงละ ๑๐ ฟอง ราคา ๔๐ บาท
๕.ปุ๋ยคอกต่างๆ
ปุ๋ยหมูหลุม
        หมูหลุมที่เทศบาลฯ เลี้ยงไว้เป็นหมูป่า โดยเลี้ยงไว้ในหลุม ซึ่งพอได้ระยะเวลาพอสมควร ปุ๋ยเต็มหลุม ก็ขุดออกมาตากแดด ผึ่งลม ให้แห้ง ซึ่งในปุ๋ยหมูหลุมจะประกอบไปด้วย แกลบ , เศษผงขี้บดจากเครื่องบดย่อย , เศษพืชผัก , เศษอาหาร , มูลและฉี่ของหมูหลุม ซึ่งเป็นปุ๋ยชั้นดี ปราศจากสารเคมี บรรจุใส่กระสอบจำหน่าย กิโลกรัมละ ๒ บาท
ปุ๋ยหมัก
        เศษผักจากร้านขายผักและผลไม้ และผงขี้บดจากกิ่งไม้ต่างๆ มาหมักทำปุ๋ย โดยติดตั้งลูกหมุน เพื่อดูดอากาศเข้าไปภายในกองปุ๋ยหมักด้วย จะได้ย่นระยะเวลาในการหมักลงได้ ปุ๋ยหมักมีคุณภาพดี ราคาถูก บรรจุใส่กระสอบจำหน่าย กิโลกรัมละ ๒ บาท
ปุ๋ยมูลวัว
        วัวที่เทศบาลฯ เลี้ยงไว้เพื่อกินหญ้า และขยะอินทรีย์ และเพื่อนำปุ๋ยมูลวัวมาใช้ประโยชน์ ในการใส่ปุ๋ยต้นไม้เกาะกลางถนน ในสนามกีฬาฯ และในพื้นที่ต่างๆ ที่เทศบาลฯ ปลุกต้นไม้ บรรจุใส่กระสอบจำหน่าย กิโลกรัมละ...บาท
๖.ของทีระลึกเกี่ยวกับเทศบาลฯ
หนังสือ "เรียงร้อยคืนวัน ผ่านสมุดภาพ ณ กาล...
๑๐๐ ปี บ้านตลาดสามย่าน (พ.ศ. ๒๔๕๑ - ๒๕๕๑) เมืองแกลง

        ในวาระอันครบ ๑๐๐ ปีของการย้ายที่ตั้งเมืองแกลง จากบ้านหนทางเกวียน มาอยู่ ณ บ้านตลาดสามย่าน เทศบาลฯ จุึงได้จัดทำหนังสือฯ เพื่อเป็นอนุสรณ์หนึ่ง เป็นที่รำลึกถึงเรื่องราวที่ได้เกิดขึ้น อยู่แต่ในสารบบเมืองของเมืองแกลง หนังสือฯ เล่มนี้เป็นเครื่องตอบโจทย์ รวบรวมปูมประวัติของคนเมืองแกลง ภาพเก่าและคำบรรยายที่เจ้าของภาพ พยายามรำลึกหรือจดจำ และถ่ายทอดให้ชนรุ่นหลัง ชาวเมืองแกลงได้รับรู้ทุกๆ เรื่องราว...
จำหน่ายเล่มละ ๓๕๐ บาท จำนวน ๓๗๘ หน้า
หนังสือ "เมืองแกลงของเรา เมืองเก่าบรรพชน"
        โครงการศึกษาและเผยแพร่วัฒนธรรมความเป็นอยู่ และวิถีชีวิตชาวเมืองแกลง หรือเรียกให้สั้นว่า โครงการย้อนอดีตเมืองแกลง ซึ่งหนังสือฯ เล่มนี้รวบรวมประวัติของเมืองแกลง ลักษณะของเมือง วิถีความเป็นอยู่ของเมืองแกลง การก่อบ้านแปลงเมือง เมืองแกลงมีอยู่ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา
        จำหน่ายเล่มละ ๓๐๐ บาท จำนวน ๖๐๒ หน้า
หนังสือ "อนุสรณ์ในพิธีเปิดอนุสาวรีย์สุนทรภู่"
        "...ปรากฎว่า...มีผู้ไปชมรูปปั้นชิ้นเล็กๆ นี้ ซึ่งมีทั้งชาวระยอง และชาวเมืองอื่นและมักถามกันว่า สักเมื่อใด...จึงจะได้เห็นอนุสาวรีย์สุนทรภู่ที่แท้จริง..."
โดยท่านเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ พ.ศ.๒๔๙๘
        หนังสืออนุสรณ์ในพิธีเปิดอนุสาวรีย์สุนทรภู่เล่มนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบประวัติความเป็นมา "กว่าจะมาเป็นอนุสาวรีย์สุนทรภู่" ทั้งที่ปรากฏมาแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๓ ณ ตำบลบ้านกร่ำ อ.แกลง และที่เพิ่งปรากฎสู่สายตาท่านนับแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๓ ณ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พระพรรษา
        จำหน่ายเล่มละ ๕๕ บาท จำนวน ๖๒ หน้า
ชุดแก้วกาแฟ "ฉลอง ๑๐๐ ปี บ้านตลาดสามย่าน"
        ชุดแก้วกาแฟนี้ จัดทำขึ้นเมื่อครั้งเฉลิมฉลองในงานบุญกลางบ้าน ตอน "ฉลอง ๑๐๐ ปีบ้านตลาดสามย่าน" เพื่อไว้เป็นของที่ระลึก ควรค่าแก่การเป็นของฝาก ของขวัญ ของกำนัลผู้ใหญ่ ๑ ชุด ประกอบด้วย จานรองแก้ว และแก้ว บรรจุในกล่องเรียบร้อย
        จำหน่ายชุดละ ๙๐ บาท
พวงกุญแจโลหะ รูปนางเงือก
        จัดทำขึ้นในช่วงงานบุญกลางบ้าน เพื่อเฉลิมฉลองการเปิดอนุสาวรีย์สุนทรภู่ ณ สนามกีฬาฯ โดยคัดเลือกตัวละครในวรรณคดีเรื่อง พระอภัยมณี ซึ่งถูกเขียนขึ้นโดย ท่านสุนทรภู่ มาจัดทำเป็นพวงกุญแจโลหะ มี ๒ สี คือ สีเงิน และสีทอง เป็นโลหะอย่างดี ไม่ลอก ไม่ดำ ทนทาน
        จำหน่ายพวงละ ๕๐ บาท
 
 

 

 
copyright © 2010
http://erc-sumc53.muangklang.com
This site is best view at 1024*768.Designed by Hoshi-chan :)
ศูนย์ประสานงานเครือข่ายการเรียนรู้ด้านการจัดการเมืองและสิ่งแวดล้อม ประจำภาคตะวันออก
Eastern Regional Coordinating Center On Urban And Environmental Management

โทร 038-675222 , แฟ็กซ์ 038-671209